"ไฟไหม้" ป้องกันไว้ดีกว่าแก้

"ไฟไหม้" ป้องกันไว้ดีกว่าแก้

เสียงหวีดร้องที่โหยหวน กลุ่มควันสีเทาพวยพุ่ง คละคลุ้ง ตลบอบอวล พร้อมกับเปลวเพลิงสีแดงที่โหมกระพือขึ้น...และแล้ว!!! โศกนาฏกรรมก็เกิดขึ้นอย่างที่ไม่มีใครคาดฝัน ส่งผลให้กลุ่มคนที่กำลังดื่ม กิน กันอย่างสนุกสนาน ต่างพากันแตกตื่น วิ่งหนีอย่างชุลมุน เพื่อหาหนี จากเพลิงนรกที่กำลังเผาผลาญในสถานบันเทิงชื่อดัง ย่านเอกมัย “ซานติกา”… เพลิงนรก ระทึกกลางกรุงอีกระลอก!!เมื่อเพลิงได้เผาผลาญอาคารเสือป่าพลาซ่า ทำให้คนนับร้อยหนีตายกันอลหม่าน...สร้างความสลดใจแก่ประชาชนชาวไทยอย่างยิ่งยวด

 

แล้วคุณล่ะ ถ้าเจอกับสถานการณ์เช่นนี้ จะทำอย่างไร??? เมื่อ “ไฟไหม้” เปรียบเสมือน “ศัตรูที่ไม่เคยหลับ” เพราะมันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ถ้าคุณประมาท!!!

 

 

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับไฟกันดีกว่า!!!โดยตามมาตรฐานสากล แบ่งไฟออกเป็น 4 ประเภท คือ ไฟประเภท เอ ไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงที่มีลักษณะเป็นของแข็งเชื้อเพลิงธรรมดา เช่น ฟืน ฟาง ยาง ไม้ ผ้า กระดาษ พลาสติก หนังสติ๊ก หนังสัตว์ รวมทั้งตัวเราเอง วิธีดับไฟที่ดีที่สุด คือ การใช้น้ำ ไฟประเภท บี ไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงที่มีลักษณะเป็นของเหลวและก๊าซ เช่น น้ำมัน แอลกอฮอล์ ทิเนอร์ ยางมะตอยจารบี และก๊าซติดไฟทุกชนิด เป็นต้น วิธีดับไฟที่ดีที่สุด คือ กำจัดออกซิเจน ทำให้อับอากาศ โดยคลุมดับ ใช้ผงเคมีแห้ง ใช้ฟองโฟมคลุม ไฟประเภท ซี ไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงที่มีลักษณะเป็นของแข็งที่มีกระแสไฟฟ้าไหลอยู่ เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด วิธีดับไฟที่ดีที่สุด คือ ตัดกระแสไฟฟ้า ไฟประเภท ดี ไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงที่มีลักษณะเป็นโลหะและสารเคมีติดไฟ เช่น วัตถุระเบิด ปุ๋ยยูเรีย ผงแมกนีเซียม ฯลฯ วิธีดับไฟที่ดีที่สุด คือ การทำให้อับอากาศ หรือใช้สารเคมีเฉพาะ (ห้ามใช้น้ำเป็นอันขาด) ซึ่งต้องศึกษาหาข้อมูลแต่ละชนิดของสารเคมีหรือโลหะนั้นๆ

 

กำจัดจุดอ่อน!!!...การป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเพลิงไหม้ ถือเป็นหนทางแรกที่ประชาชนทุกคนพึงปฏิบัติ ด้วยการจัดระเบียบภายในและภายนอกอาคารให้ดี เช่น เก็บเอกสารสำคัญรวมไว้ในที่เดียวกัน เมื่อเกิดเหตุจะได้หยิบฉวยได้ทันที ขจัดสิ่งรกรุงรัง เก็บรักษาสิ่งที่อาจจะเกิดอัคคีภัยได้ง่ายไว้ให้เป็นสัดส่วน โดยไม่ลืมที่จะตรวจตราและซ่อมบำรุงอุปกรณ์ เช่น สายไฟฟ้า เครื่องจักรกล เครื่องทำความร้อน ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์และความปลอดภัย ที่สำคัญ อย่าประมาท เลินเล่อ เช่น จุดธูปเทียนบูชาพระทิ้งไว้ ใช้เครื่องต้มน้ำไฟฟ้าแล้วลืม เสียบปลั๊กไว้จนน้ำแห้ง เป็นต้น ประการสุดท้าย เตรียมเครื่องมือดับเพลิงเคมี ไว้ให้ถูกที่ถูกทางสำหรับดับเพลิงชั้นต้นและต้องรู้จักการใช้ เครื่องดับเพลิงเคมีด้วย

 

หัดสังเกตุบ้างก็ดี!!!...อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า ไฟไหม้ เกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้น สิ่งที่พึงกระทำเป็นอันดับต้นๆ เมื่อต้องเดินทางไปในทุก ๆ ที่ ก็คือ การสังเกตทางหนีไฟ โดยสังเกตตำแหน่งบันไดหลักและบันไดหนีไฟ ประตู หน้าต่าง เส้นทางหนีไฟ ทางออกจากตัวอาคาร และจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจ ว่าทางออกนั้นไม่ได้ปิดล็อกหรือมีสิ่งกีดขวาง สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยจริง นอกจากนี้ต้องสังเกตอุปกรณ์ช่วยชีวิตและอุปกรณ์เตือนภัย ได้แก่ เครื่องดักจับควัน เครื่องดักจับความร้อน อุปกรณ์ดับเพลิงอัตโนมัติ อุปกรณ์แจ้งเหตุฉุกเฉิน และเครื่องดับเพลิง ว่ามีอยู่หรือไม่ เป็นแบบใด อยู่ที่ไหน และใช้งานอย่างไร

 

ไฟไหม้แล้ว ทำไงดี!!!...เมื่อถึงเวลาที่ต้องผจญเหตุเพลิงไหม้จริงๆ คุณควรตั้งสติให้ดี เพื่อช่วยเหลือตนเองเบื้องต้นก่อน จากนั้นปิดประตูหน้าต่างห้องที่เกิดเพลิงไหม้ให้สนิทที่สุดทันทีถ้าทำได้ เพื่อป้องกันการลุกลามของเพลิง แต่ต้องแน่ใจว่าไม่มีใครติดอยู่ข้างใน แล้วรีบวิ่งหนีออกมา และเปิดสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ หากไม่มีอุปกรณ์แจ้งเหตุฉุกเฉิน ให้ช่วยกันตะโกนดังๆ หลายๆ ครั้งว่า "ไฟไหม้" จากนั้นรีบโทรศัพท์เรียกหน่วยดับเพลิงทันที ที่สำคัญ อย่าหนีโดยใช้ลิฟต์และบันไดเลื่อนขณะเกิดเพลิงไหม้!!!...เพราะทันทีที่เกิดไฟไหม้ อุปกรณ์เหล่านี้จะหยุดการทำงานเนื่องจากไม่มีกระแสไฟฟ้า ให้ใช้บันไดหนีไฟเท่านั้น!!!

 

ระวัง!!!ก่อนเปิดประตู...หากติดอยู่ในอาคารที่มีเพลิงไหม้ ก่อนจะเปิดประตูให้เอาหลังมือแตะที่ลูกบิดประตู ถ้ามีความร้อนสูงแสดงว่ามีเพลิงไหม้อยู่บริเวณใกล้ๆ อย่าเปิดประตูโดยเด็ดขาด จากนั้นให้ใช้ผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดตัว ชุบน้ำเปียก ๆ แล้วอุดไว้ตามร่อง ประตูและช่องต่าง ๆ ในห้อง เพื่อกันไม่ให้ควันไฟเล็ดลอดเข้ามาได้ แล้วเปิดหน้าต่างส่งสัญญาณด้วยการโบกผ้า และตะโกนขอความช่วยเหลือ ถ้ามีจำเป็นจริงที่ต้องเปิดประตูห้องขณะที่ไฟกำลังลุกท่วม ให้หาผ้าหนา ๆ คลุมลูกบิดประตู โดยผู้เปิดยืนอยู่หลังประตู เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟที่ลามออกมาเผาร่างกาย จากนั้นจึงเปิดประตูได้

 

ควันไฟคร่าชีวิต!!!...เมื่อต้องเผชิญกับควันไฟที่ปกคลุมอยู่ทั่วบริเวณ ควรหาผ้าชุบน้ำปิดปาก ปิดจมูก หรือผ้าห่มชุบน้ำชุ่มคลุมร่างกายไว้ และใช้วิธีคลานต่ำๆ เพราะอากาศที่พอหายใจได้จะอยู่ด้านล่างเหนือพื้นห้องไม่เกิน 1 ฟุต ดังนั้น ทันทีที่เกิดเพลิงไหม้ ควันไฟจะปกคลุมอยู่รอบ ๆ ตัวคุณอย่างรวดเร็ว และกว่า 90% ของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ เป็นผลมาจากสำลักควันไฟ เพราะมีทั้งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, คาร์บอนมอนน็อกไซด์, เขม่า และอุณหภูมิที่สูงขึ้น หากหายใจเอาอากาศและเขม่าที่เกิดจากกระบวนการเผาไหม้เข้าไปในทางเดินหายใจ แก็ซและเขม่ารวมทั้งอากาศร้อน จะส่งผลให้ขาดออกซิเจน หายใจไม่ออกและหมดสติได้ นอกจากนั้น อาจก่อให้เกิดภาวะปอด-หลอดลม-กล่องเสียง–คอ-จมูก และไซนัสอักเสบอีกด้วย

 

นอกจากนั้น ยังก่อให้เกิดอาการแสบตา ตาแดง น้ำตาหรือน้ำมูกไหล เจ็บคอ ไอ หายใจลำบาก ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน โดยเฉพาะผู้ป่วยเป็นโรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ โรคหัวใจ อาจมีอาการกำเริบได้นอกจากนี้ เขม่าและอากาศร้อนที่เข้าไปในทางเดินหายใจ ยังอาจทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจ แดงและบวม เยื่อบุที่บวมมากๆ นี้ อาจก่อให้เกิดภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น นั่นคือ อากาศที่หายใจเข้าไปไม่สามารถเดินทางไปถึงถุงลมในปอดได้ และอากาศจากปอดไม่สามารถเดินทางออกมายังจมูกได้ ผู้ป่วยจะเกิดอาการแน่นอก อึดอัด หายใจไม่ออก และถึงแก่ชีวิตได้ในที่สุด

 

แต่!!!ถ้าหลีกไม่พ้นเพลิงนรก ทำให้ไฟลามที่ตัว ให้ทรุดกายลงกลิ้งกับพื้นเพื่อดับไฟ เพื่อไม่ให้ไฟลุกลามไปทั่วร่างกาย หรือ ในกรณีที่เห็นผู้อื่นมีไฟลามที่ตัว ให้นำผ้าหนา ๆ ตบไปที่บริเวณที่ไฟลุกนั้น จากนั้น หาผ้าชุบน้ำมาปิดจมูกและคลุมศีรษะของผู้อื่น แล้วพาออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยทันที

 

เมื่อพ้นจากพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ว ขณะรอเจ้าหน้าที่พยาบาลมาช่วยเหลือ ลองสำรวจดูว่า ตนเองได้รับบาดเจ็บจากไฟไหม้เพียงใด หากผิวหนังถูกทำร้ายด้วยความร้อนเพียงเล็กน้อย ให้ลงมือปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยใช้ผ้าชุบน้ำประคบบริเวณบาดแผล เพื่อระบายความร้อน หรือแช่ลงในน้ำ หรือเปิดให้น้ำไหลผ่านบริเวณบาดแผล นานประมาณ 10 นาที ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้ จากนั้นทาด้วยยาทาแผลไหม้ ห้ามเจาะถุงน้ำหรือตัดหนังส่วนที่ผองออก ปิดด้วยผ้าสะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่หากแผลไหม้บริเวณกว้าง หรือที่อวัยวะสำคัญ ไม่ต้องระบายความร้อนออกจากแผล เพราะจะทำให้แผลติดเชื้อมากขึ้น ห้ามใส่ยาใดๆ ทั้งสิ้นลงในบาดแผล ใช้ผ้าสะอาดห่อตัวผู้บาดเจ็บเพื่อป้องกันสิ่งสกปรก และรีบนำส่งโรงพยาบาล

 

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว พล.อ.ต.ชูพันธ์ ชาญสมร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช แนะนำว่า ควรช่วยเหลือผู้ถูกไฟไหม้เบื้องต้นด้วยการใช้น้ำราด หรือ ผ้าชุบน้ำคลุมตัวผู้ป่วย เพื่อระบายความร้อน เพราะร่างกายจะสูญเสียน้ำทำให้ขาดสมดุล รวมทั้งต้องรักษาความสะอาดบาดแผล เพื่อป้องกันการติดเชื้อ นอกจากนี้ ญาติหรือผู้ใกล้ชิดผู้บาดเจ็บ มีส่วนสำคัญในการให้กำลังใจผู้ป่วยให้กลับมาใช้ชีวิต หรือต่อสู้กับความเจ็บปวด เพราะบาดแผลจากไฟไหม้ขั้นรุนแรงจะต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง เช่น การทำกายภาพบำบัด หรือการผ่าตัดตกแต่งบาดแผล

 

แผลที่กายรักษาได้ แผลที่ใจ ใครจะรักษา!!!...แม้ว่าคุณจะรักษาบาดแผลที่เกิดจากไฟไหม้ได้หมด ทำศัลยกรรมจนกลับมาสวย หล่อ ได้ดังเดิม แต่ใครจะรับประกันได้ว่า ความหวาดกลัวภายในจิตใจของคุณจะถูกรักษาให้หมดไปได้ ความเศร้าสลดที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ใครจะเป็นผู้มาเยียวยา...ทำไมต้องรอให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นก่อน ทั้ง ๆ ที่สิ่งแรกที่คุณควรจะทำ คือ การเตรียมพร้อมรับมือกับเพลิงนรกอยู่เสมอ และใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท ไม่ใช่วัวหายแล้วจึงค่อยล้อมคอก เพราะหากรอให้ถึงวันนั้น คุณอาจไม่เหลืออะไรให้แก้ไขอีกแล้ว ดังคำกล่าวที่ว่า “โจรปล้น 10 ครั้ง ไม่เท่าไฟไหม้ครั้งเดียว!!!”...

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view